ระยะนี้ศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยในบ้านเราได้รับ ความนิยมขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ หน้าตา รูปลักษณ์ ภายนอก มีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของหนุ่มสาว สมัยใหม่เป็นอย่างมาก ตั้งแต่การยอมรับในเพศ ตรงข้าม หมู่เพื่อนฝูง สังคม รวมไปถึงหน้าที่การงาน นอกจากใบหน้า ตา คิ้ว จมูก ปาก แล้ว หน้าอก หรือเต้านม ก็เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ คุณผู้หญิงดูดีและมั่นใจ ทำให้ศัลยกรรมเสริมเต้านมรั้งตำแหน่งเป็นศัลยกรรมตกแต่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา โดยมีคุณผู้หญิงชาวอเมริกันเข้ารับการผ่าตัดเสริมเต้านม มากกว่า 300,000 รายต่อปี ส่วนในบ้านเรานั้นศัลยกรรมเสริมเต้านมก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี แต่ไม่กี่วันมานี้มีข่าวครึกโครมสะท้านวงการศัลยกรรมทั่วโลกเมื่อผู้หญิงชาวฝรั่งเศษที่ได้รับการเสริมเต้านมจากผู้ผลิตซิลิโคนด้อยคุณภาพ สามร้อยกว่าคน ออกมารวมตัวเรียกร้องค่าชดเชย และร้องขอเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนซิลิโคนเสริมเต้านม ซึ่งเมื่อสืบสาวราวเรื่องพบว่า บริษัทฝรั่งเศษดังกล่าว ใช้ซิลิโคนเสริมเต้านมที่คุณภาพต่ำกว่าที่จะนำมาใช้ในร่างกายมนุษย์ และพบความเป็นไปได้ว่าซิลิโคนด้อยคุณภาพเหล่านี้อาจเกี่ยวพันกับการเกิดมะเร็งต่างๆในร่างกายอีกด้วย ข่าวดังกล่าวทำให้คุณผู้หญิงที่ได้รับการเสริมเต้านมไปแล้ว หรือกำลังมีความคิดที่อยากจะเสริมเต้านมหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน

รู้จักถุงซิลิโคนเสริมเต้านม

เราอาจได้ยินคำว่าซิลิโคนบ่อยมากในชีวิตประจำวัน เนื่องจากซิลิโคนในโลกนี้มีหลายชนิด แต่ละชนิดก็ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เช่น ซิลิโคนที่ใช้อุดกันน้ำซึม หรือยารอยแยกของผนังในช่วงน้ำท่วม จนถึงซิลิโคนคุณภาพสูงที่สามารถนำมาใช้กับร่างกายมนุษย์ในทางการแพทย์ได้ (Medical grade silicone) เจ้าถุงซิลิโคนเสริมเต้านมได้ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกใน ปี ค.ศ.1962 โดย Cronin และ Gerow หลังจากนั้น ได้มีการพัฒนาปรับปรุงมาแล้วอย่างน้อย 5 รุ่นด้วยกัน ในปัจจุบันซิลิโคนเสริมเต้านมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ถุงน้ำเกลือ และถุงซิลิโคน ทั้งสองชนิดมีลักษณะคล้ายขนมปังสังขยา ประกอบด้วยวัสดุ 2 ส่วน

  • ส่วนแรก คือ ถุงหรือเปลือก(เปรียบเทียบได้ กับขนมปังที่อยู่ภายนอก) ซึ่งผลิตจากซิลิโคนคุณภาพดี สามารถทนแรงบีบเค้น ทนการยืดขยายตัวได้ดี มีการรั่วซึมของวัสดุที่ใส่อยู่ภายในต่ำ และไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกาย
  • ส่วนที่สอง คือ ของเหลว ที่ใส่ในถุง (เปรียบเทียบได้กับไส้สังขยาที่อยู่ภายใน) ซึ่งอาจเป็น “น้ำเกลือ” ที่ใช้อย่างกว้างขวางใน ทางการแพทย์ หรือ เป็น “ซิลิโคนเหลว” คุณภาพสูง โดยที่ซิลิโคนเหลวในปัจจุบันนั้นได้รับการพัฒนาให้มีการเกาะตัวกันระหว่างโมเลกุลดีมาก ทำให้มีการคงรูปร่าง และการรั่วซึมออกจากถุงต่ำ จึงมีความปลอดภัยในการใช้งานสูง

ซิลิโคนเสริมเต้านมยังมีความปลอดภัยอยู่ไหม ??

หลังจากซิลิโคนเสริมเต้านมชิ้นแรกได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นและเริ่มมีการใช้อย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ก็มีคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เจ้าถุงซิลิโคนเสริมเต้านมเป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ถูกจับตามองจากองค์กรทางการแพทย์ต่างๆ ทั่วโลก ในช่วงยี่สิบปีก่อนมีคำถามถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของมัน บ้างก็ว่ามันอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งอื่นๆในร่างกาย บ้างก็ว่ามันอาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue disease) ด้วยเหตุนี้เอง เจ้าถุงซิลิโคนเสริมเต้านมจึงถูกสอบสวนอย่างหนัก แต่แล้วงานวิจัยชิ้นแล้วชิ้นเล่าก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าซิลิโคนเสริมเต้านม (ที่ได้มาตรฐาน) เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้เป็นตัวการทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ดังที่กล่าวอ้างกัน

จะขอยกตัวอย่างงานวิจัยสำคัญๆ บางชิ้น อาทิเช่น การ ศึกษาจาก Mayo Clinic หนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำของสหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร New England Journal of Medicine ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้เป็นลำดับต้นๆของโลกในปี ค.ศ.1994 กล่าวว่า “ไม่พบว่าผู้หญิงที่เสริมเต้านมด้วยซิลิโคนเป็นโรคเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมากกว่าผู้หญิงปกติ” และอีกหนึ่งตัวอย่างเป็นการศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1997 กล่าวว่า “ซิลิโคนเสริมเต้านมไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม” นอกจากนั้นแล้วยังมีการศึกษาวิจัยอีกมากมายซึ่งได้ผลในทำนองเดียวกัน รวมไปถึงการศึกษาผลกระทบในระยะยาวของผู้ป่วยที่ได้รับการเสริมเต้านม นานกว่าสิบปีด้วย ซึ่งทำให้สถาบันองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ออกมาประกาศรับรองความปลอดภัยของซิลิโคนเสริมเต้านม ทั้งแบบเติมน้ำเกลือและแบบซิลิโคนเหลว ซึ่งผลิตโดยสองบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยการรับรองดังกล่าวมีผลเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปีแล้ว (ค.ศ.2006)

เพื่อไม่ให้เป็นการสับสนและงงงวยไปกับศัพท์ทางวิชาการปริมาณมาก อาจกล่าวโดยสรุปง่ายๆจากข้อมูลทั้งหมดที่มีในปัจจุบันได้ว่า “เจ้าถุงซิลิโคนเสริมเต้านมนั้นไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งอื่นๆในร่างกาย และไม่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ ในร่างกายด้วย” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระลึกไว้ ในใจเสมอว่าต้องเป็นซิลิโคนที่ได้มาตรฐานเท่านั้น

หากได้รับการเสริมเต้านมด้วยซิลิโคนที่ ไม่ได้มาตรฐานจะเกิดอะไรขึ้น??

ซิลิโคนเสริมเต้านมที่ไม่ได้มาตรฐานอาจหมายถึง การไม่ได้คุณภาพของถุงซิลิโคนภายนอก หรือการไม่ได้คุณภาพของเจ้าซิลิโคนเหลวที่อยู่ภายใน ซึ่งโดยรวมแล้วการไม่ได้คุณภาพของส่วนใดส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการแตก หรือการรั่วซึมที่มากเกินจะยอมรับได้ ซึ่งซิลิโคนเหลวด้อยคุณภาพที่รั่วออกมาอาจกระตุ้นปฏิกิริยาต่อต้านของร่างกาย ส่งผลให้เกิดพังผืดมากขึ้น มีแคลเซียมมาเกาะตัวมากขึ้น ทำให้เต้านมผิดรูป แข็ง และอาจเกิดความเจ็บปวดได้ ส่วนความเป็นไปได้ถึงความสัมพันธ์กับมะเร็งดังที่ปรากฎในข่าวนั้นยังอยู่ระหว่างการสืบสวนวิจัยจากองค์กรชั้นนำของโลกอยู่

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ได้รับการเสริมเต้านมด้วย“ซิลิโคนด้อยคุณภาพ“หรือไม่มั่นใจ

สำหรับคุณผู้หญิงที่เข้าข่าย ขอแนะนำวิธีปฏิบัติเป็นลำดับขั้นดังนี้

  • อันดับแรก ขอแนะนำให้คุณผู้หญิง “ตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนก” : ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุด เนื่องจาก เจ้าซิลิโคนนี้อยู่กับเรามาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว มันไม่ได้คอขาดบาดตายในอีกห้านาที หรือสองวันข้างหน้าแน่นอน !!!
  • อันดับที่สอง “สังเกตและตรวจด้วยตนเอง” : ยืน ดูเต้านมของตนเองหน้ากระจกว่ารูปโฉมผิดปกติไหม มีอาการปวดผิดปกติไหม จากนั้นค่อยๆใช้มือสัมผัส และคลำเต้านมของตนเองว่ามีก้อนผิดปกติหรือไม่ หรือมีบางส่วนของเต้านมที่แข็งผิดปกติหรือไม่ ต่อมา คลำรักแร้ทั้งสองข้างหาก้อนผิดปกติซึ่งอาจเป็นต่อม น้ำเหลือง หรือซิลิโคนเหลวที่รั่วซึมออกมา สุดท้าย ค่อยๆใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ รีดบริเวณหัวนม และ ลานหัวนมว่ามีของเหลวออกมาหรือไม่ (โดยปกติแล้ว ไม่ควรจะมีของเหลวใดๆออกมา) หรือถ้ามีให้สังเกตดูว่า ของเหลวดังกล่าวมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น เป็น น้ำนม น้ำเหลือง หรือ น้ำเลือด เป็นต้น
  • อันดับที่สาม “พบแพทย์” : หาเวลาที่สะดวกไปพบ ศัลยแพทย์ตกแต่งที่ผ่าตัดให้ หากไม่สามารถหา ศัลยแพทย์ท่านเดิมได้ก็สามารถปรึกษาศัลยแพทย์ ตกแต่งท่านใหม่ โดยรวบรวมข้อมูลที่มีทั้งหมดเล่าให้คุณหมอฟัง จากนั้นคุณหมอก็จะทำการตรวจหน้าอกและรักแร้ เพื่อหาภาวะแทรกซ้อน และอาจทำการตรวจ คัดกรองหรือวินิจฉัยทางรังสี เช่น เอ็กซ์เรย์เต้านม (Mammogram) ตรวจเต้านมด้วยเสียงความถี่สูง (Ultrasound) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตามความเหมาะสม ถ้าพบความผิดปกติของเต้านมไม่ว่าจะเป็นผล แทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับซิลิโคน (เช่น พังผืดรัด ซิลิโคนรั่วซึม) หรือความผิดปกติอื่นๆของเต้านม คุณผู้หญิง สามารถปรึกษาแผนการรักษาร่วมกับคุณหมอเจ้าของไข้ได้

หากมีคำถามที่สงสัยก็อย่าลังเลที่จะซักถามศัลยแพทย์ที่ดี ย่อมยินดีที่จะให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยเสมอ ถ้าคุณผู้หญิงไม่มีอาการและตรวจไม่พบความผิด ปกติก็แนะนำให้สอบถามยี่ห้อ รุ่น ชนิด และขนาดของซิลิโคนเสริมเต้านมเก็บไว้เป็นข้อมูลส่วนตัวก่อน ในกรณีที่พบว่าเป็นซิลิโคนด้อยคุณภาพและผลการตรวจพบว่าถุงซิลิโคนยังอยู่ในสภาพดี ก็ไม่แนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยน แต่แนะนำให้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดโดยการตรวจเต้านมตนเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 3 เดือน และเข้ารับการตรวจติดตามโดยแพทย์ทุก 6 เดือนถึง 1 ปี นอกจากนี้แล้วควรได้รับการตรวจทางรังสีด้วย อัลตราซาวน์ แมมโมแกรม หรือ MRI ทุก 1-2 ปี

เลือกสถานพยาบาล

การเลือกสถานพยาบาลที่เข้ารับการผ่าตัดเสริมเต้านม ควรเป็นสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ทั้งในด้านเครื่องมือในการผ่าตัด การดมยาสลบ และ การกู้ชีพ นอกจากนั้นยังต้องได้มาตรฐานในเรื่องความสะอาดอีกด้วย ดังนั้นสถานที่ที่เราจะเลือกเข้ารับการผ่าตัดเสริมเต้านม จึงควรเป็นโรงพยาบาล หรือ คลีนิกที่ได้คุณภาพ

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนจะเข้ารับการผ่าตัดเสริมเต้านม

เนื่องจากการผ่าตัดเสริมเต้านมนั้นเป็นการผ่าตัดที่ลงทุนสูง ลงทุนสูงในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงเรื่อง เงินๆ ทองๆ เพียงอย่างเดียว ยังรวมไปถึงการที่จะต้องดมยาสลบ และ การเจ็บตัวหลังผ่าตัดตลอดจนช่วงเวลาในการพักฟื้นอีกด้วย ดังนั้นคุณผู้หญิงควรที่จะหาข้อมูลและทำการบ้านอย่างดี การบ้านที่ว่านั้นมีสามข้อใหญ่ๆ

ข้อแรก “อยากได้เต้านมอย่างไร” : การรู้ความต้องการของตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากความสวยนั้น เป็นนามธรรม ความสวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คุณผู้หญิงควรให้เวลาในการไตร่ตรอง ตกผลึกความคิดของตนเอง และเรียบเรียงออกมาเป็นรูปธรรมอย่างละเอียด เพื่อสื่อสารพูดคุยกับศัลยแพทย์ตกแต่งให้เข้าใจถึงความสวยที่ต้องการ และเป็นไปได้ ตามสภาพความเป็นจริง เปรียบเสมือนสถาปนิก และวิศวกรจะไม่สามารถสร้างบ้านตามจินตนาการที่เกินจริง หรือไม่สามารถสร้างบ้านให้สวยตรงตามความต้องการโดยที่เจ้าของบ้านเองก็ยังไม่ทราบว่าต้องการบ้านแบบใด

ข้อสอง “ข้อดีข้อเสียของการผ่าตัดมีอะไรบ้าง” : คุณผู้หญิงต้องรู้ก่อนว่าภายหลังการผ่าตัดและการพักฟื้น ผลการผ่าตัดที่ดีที่สุดจะเป็นอย่างไร และมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัด หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาชั่งน้ำหนักและตัดสินใจด้วยตนเอง โดยมีศัลยแพทย์ตกแต่งเป็นที่ปรึกษาว่า “คุ้ม” ที่จะทำหรือไม่

ข้อสาม “เลือก” : เมื่อตัดสินใจว่าจะเข้ารับการเสริมเต้านมแน่นอนแล้วก็ถึงคราวที่จะต้องเลือก คุณผู้หญิง ควรเลือกสิ่งที่ดีที่สุดที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อให้การเจ็บตัวครั้งนี้ได้ผลอย่างใจหวังและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

เลือกศัลยแพทย์

ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัด หรือ คุณหมอเจ้าของไข้ เป็น ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดกับผลการผ่าตัด เนื่องจากศัลยกรรมตกแต่งเป็นงานฝีมือ และงานศิลปะบนเนื้อหนังของมนุษย์ ผลงานจะออกมาอย่างไรนั้น “ศิลปิน” มีส่วนโดยตรง ดังนั้นการเลือกศัลยแพทย์จึงเป็นส่วนที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยพิจารณาจาก

วุฒิบัตรศัลยศาสตร์ตกแต่ง : นอกจากใบประกอบ โรคศิลป์ซึ่งแสดงถึงการผ่านมาตรฐานการเป็นแพทย์ใน ประเทศไทยแล้ว ศัลยแพทย์ที่คุณผู้หญิงจะเลือกควร ได้รับการรับรองจากสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทยโดยจะดูได้จาก ใบวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรศัลยศาสตร์ตกแต่ง ซึ่งออกโดยแพทยสภา ศัลยแพทย์ผู้ที่จะได้รับวุฒิบัตรนี้จะต้องได้รับการศึกษาและฝึกฝนในเรื่องความรู้เฉพาะทาง และการผ่าตัดทางศัลยศาสตร์ตกแต่ง หลังจากเรียนจบแพทย์แล้วเป็นเวลา 5-6 ปีด้วยกัน ต้องผ่านการสอบวัดความรู้จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศัลยศาสตร์ตกแต่งจากทั่วประเทศทั้งแบบข้อเขียนและการประเมินการตัดสินใจแบบตัวต่อตัว (สามารถตรวจสอบ รายชื่อศัลยแพทย์ตกแต่งได้ที่เว็บไซต์สมาคมศัลยแพทย์ ตกแต่งแห่งประเทศไทย www.plasticsurgery.or.th/ หรือ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศ ไทย http://www.surgery.or.th/)

ผลงาน : อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าศัลยกรรมตกแต่งเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ดังนั้นไม่แปลกที่จะขอดูผลงานเก่าๆของศิลปิน คุณผู้หญิงสามารถขอดูตัวอย่างภาพผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้วจากคุณหมอได้ หรือสามารถสอบถามจากผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดมาแล้ว เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจว่าตรงกับความต้องการของเราหรือไม่

คุณธรรมและจริยธรรม : ศัลยแพทย์ตกแต่งที่ดี จะต้องตั้งอยู่ในคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี ดำรงตน เป็นต้นแบบแก่สังคม

เลือกตำแหน่งของแผลผ่าตัด

ตำแหน่งของแผลผ่าตัดในการเสริมเต้านม นั้นเป็นไปได้ 4 ตำแหน่งหลักๆ คือ แผลผ่าตัดใน รอยย่นใต้เต้านม (Inframammary crease) แผลผ่าตัดรอบปานนม (Areola) แผลผ่าตัดที่ รักแร้ และ แผลผ่าตัดบริเวณสะดือ ซึ่งอย่าง สุดท้ายไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากทำยาก และผลการผ่าตัดไม่ดี

เลือกตำแหน่งชั้นของเนื้อเยื่อที่จะใส่ ซิลิโคนเสริมเต้านม

ซิลิโคนเสริมเต้านมสามารถนำไปวางไว้ได้ในช่อง เนื้อเยื่อของร่างกายดังนี้
  • ใต้เนื้อเต้านมเหนือกล้ามเนื้อ (Subglandular pocket)
  • ใต้กล้ามเนื้อหน้าอก (Submuscular pocket)
  • ใต้กล้ามเนื้อหน้าอกบางส่วนและใต้เนื้อเต้านม บางส่วน (Biplanar pocket,Dual plane)

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการผ่าตัดเสริมเต้านม

เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำหัตถการทุกอย่างนั้นมีความเสี่ยงเสมอ ไม่มากก็น้อย การผ่าตัดเสริมเต้านมก็เช่นเดียวกัน คุณผู้หญิงควรรู้ว่าสิ่งต่อไปนี้สามารถเกิดขึ้นได้ถึงแม้จะได้รับการผ่าตัดอย่างดี
   • แผลเป็นที่มองเห็นชัด เช่น แผลเป็นนูน แผล เป็นคีลอยด์ (Keloid)
   • เลือดออก หน้าอกเขียวช้ำ
   • ภาวะติดเชื้อที่แผลผ่าตัด หรือ ติดเชื้อรอบซิลิโคนเสริมเต้านม
   • ความรู้สึกบริเวณหัวนมเปลี่ยนแปลง หรือ ชา ซึ่งภาวะนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่สามารถ พบแบบถาวรได้ในผู้ป่วยบางราย
   • ภาวะพังผืดหดรัดตัว ซึ่งอาจทำให้เต้านมผิดรูป และต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขได้
   • ซิลิโคนเหลว หรือ น้ำเกลือ แตกรั่วออกจากถุงซิลิโคน
   • การย่นตัวเป็นคลื่นของผิวหนังเต้านม
   • ความเสี่ยงจากการดมยาสลบ
   • ความปวดจากการผ่าตัด ซึ่งส่วนมากจะค่อยๆลดลงจนหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์หลังผ่าตัด แต่สามารถพบผู้ป่วยบางรายที่ปวดแผลนานกว่าปกติ
   • ความเสี่ยงต่อภาวะเลือดในหลอดเลือดดำที่ขา จับตัวเป็นลิ่ม ซึ่งในบางรายสามารถหลุดไปที่ ปอดได้ (เป็นความเสี่ยงที่พบได้เช่นเดียวกับการ ผ่าตัดประเภทอื่นๆ)
   • มีโอกาสที่ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขได้

ปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณา

  • ซิลิโคนเสริมเต้านมของทุกบริษัทไม่ได้รับการรับประกันตลอดอายุการใช้งาน ดังนั้นคุณผู้หญิงเองอาจต้องเตรียมใจ เผื่อไว้สำหรับการผ่าตัดในอนาคตเพื่อเปลี่ยนซิลิโคนคู่ใหม่
   • รูปโฉมของเต้านมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลา หรือภาวะอื่นๆ อาทิเช่น การตั้งครรภ์ การลดน้ำหนัก รวมไปถึง ช่วงเวลาที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงหลังจากประจำเดือนหมด เป็นต้น

เห็นอย่างนี้แล้วคุณผู้หญิงก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจ โอกาสในการเกิดภาวะดังกล่าวข้างต้นไม่ได้มากมาย และแทบทุกชนิดมีหนทางรักษาและเยียวยาได้ การรู้รายละเอียดของความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน จะช่วยให้คุณผู้หญิง สามารถรู้เท่าทันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น อันจะนำไปสู่การแก้ไขที่ทันท่วงที ดังตำราโบราณที่กล่าวว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

ถ้าเปรียบการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งแล้ว ศัลยแพทย์ตกแต่งคงเปรียบเหมือนศิลปิน แต่เนื่องจากเป็นศิลปะบนเนื้อหนังของมนุษย์ ซึ่งแตกต่างกันอย่างมากกับกระดาษ หรือ ผืนผ้าใบ ดังนั้นจึง มีปัจจัยจำนวนมากที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ซึ่งศัลยแพทย์ตกแต่งที่ดี จะต้องนำวิทยาศาสตร์ทางด้านการแพทย์มาร่วมคิดวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลทางศิลปะตามที่คาดหมาย อาทิเช่น ความรู้เรื่องการสมานของแผล กลไกการบวม การอักเสบ การติดเชื้อ การเกิดแผลเป็น เป็นต้น

อย่างไรก็ดีแม้ในมือของศัลยแพทย์ตกแต่งที่ดีที่สุดในโลกก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าผลการผ่าตัดจะดีตามแผนที่วางไว้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมมักเปรียบเทียบให้ผู้ป่วยฟัง เสมอๆว่า การผ่าตัดนั้นไม่ต่างกันมากนักกับการเดินข้ามถนน ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าการเดินข้ามในแต่ละครั้งนั้นรถจะไม่ชน สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ ตั้งสติ มองซ้ายมองขวา ดูรถ ดูสัญญาณไฟให้ดี ข้ามตรงทางม้าลาย ถ้าทำได้ดังนี้โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็จะน้อย การผ่าตัดก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณผู้หญิงมีสติ ก็จะสามารถข้ามไปถึงฝั่งฝัน มีหน้าอกสวยได้อย่างปลอดภัย

นายแพทย์กิดากร กิระนันทวัฒน์
ที่มา เว็บไซต์ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย ลิงก์ https://www.thprs.org/blog/-breast-augmentation-

ลิงก์บทความ: https://breastsociety.com/breast-101/ศลยกรรมเสรมเตานมอยางไร/

Hear from Expert

Breast Society Content

Tips for Pre/Post-op Care

Patient Stories

Breast 101

Recent posts: